ฝรั่งเดินหมากรุก ยอมเสียม้า เสีย เรือ เสีย Bishop ของตัวเอง เหมือนเสีย ญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรป และไต้หวัน (ที่ย้ายฐานไป Arizona) โดยให้รบยืดเยื้อสัก 2-3 ปี ปีสุดท้ายส่งนิวเคลียร์ให้ยิงรัสเซีย จีน ให้ทั้งสองข้างน่วมกันไป เสร็จแล้วเราฝรั่งเจ้าของ AI ค่อยต่อสายตรงไปคุยกับรัสเซีย และจีน ว่าอยากเสียเมืองอีกสัก 20 เมืองไหม ถ้าพร้อมก็กดปุ่มกันเลย จีน รัสเซีย เงียบ เลิกสงคราม อเมริกันได้เงินค่าขายอาวุธมา 4-5 ปีใช้หนี้ตัวเองได้หมด ประเทศลูกน้องกับศัตรูถูกหลอกให้ราบ น่วมนิวเคลียร์ ส่วนที่ทวีปใหญ่ห่างไกล อาจโดนจากนายคิมสักลูกสองลูก แต่นายคิมหายไปเลยตั้งแต่ตอนยิง อ่านเกมส์อย่างนี้ ฉันก็ชนะในกระดานหมากรุก ถึงจะเสียลูกน้องไปมาก มันก็แค่เศษของชีวิตเดี๋ยวก็เกิดใหม่ ตอนนี้มากไปซะด้วย ไม่ใช่เชื้อชาติที่พระเจ้าประทานให้มาปกครองอย่างเรา
กําเนิดของหมากรุกนั้นเล่าขานกันว่ามาจากเกมกระดานที่มหารานีผู้ชาญฉลาดออกแบบมาจำลองการศึกให้มหาราชาแห่งอาณาจักรหนึ่งในชมพูทวีปได้เล่นเพื่อที่จะไม่ต้องไปก่อศึกรบพุ่งกันจริงๆ ให้ลำบากเดือดร้อนแก่ไพร่พลราษฎร
หมากรุกจึงเป็นเกมกลยุทธ์ ที่มาของสำนวนเปรียบเทียบถึงการศึกสงคราม การต่อสู้ เจรจาต่อรอง หรือการใดก็ตามที่อาศัยการชิงไหวชิงพริบระหว่างผู้เล่นแต่ละฝ่าย สำนวนว่า “ไม่ดูตาม้าตาเรือ” ก็มาจากการเล่นหมากรุกเช่นกัน
คนไทยคุ้นเคยกับหมากรุกมาหลายร้อยปี แต่สำหรับเกมกระดานอีกอย่างหนึ่งคือ “หมากล้อม” ที่บางคนก็เรียกตามภาษาญี่ปุ่นว่า “โกะ” หรือ “เหวยฉี” ในภาษาจีนนั้น เหมือนจะเพิ่งเข้ามาเป็นที่รู้จักแพร่หลายได้ราวยี่สิบกว่าปี และเป็นที่นิยมด้วยความเชื่อที่ว่าหมากล้อมเป็นหมากกระดานที่ต้องใช้ไหวพริบ สติปัญญา และสมาธิในการเล่นที่ลึกล้ำ จึงสามารถประยุกต์ไปใช้ได้หลากหลายรวมถึงการบริหารธุรกิจด้วย
ความซับซ้อนลึกซึ้งของหมากล้อมอาจจะเห็นได้จากการที่คอมพิวเตอร์ที่ชื่อว่า “ดีปบลู” (Deep blue) ของ IBM นั้น สามารถเอาชนะนักหมากรุกที่เก่งที่สุดในโลกได้ตั้งแต่ปี 1997 แต่สำหรับหมากล้อมนั้น กว่าที่ปัญญาประดิษฐ์อัลฟาโกะ (Alpha Go) ของ Google จะเอาชนะมนุษย์ได้ก็อีกราวยี่สิบปีต่อมา
ทั้งหมากรุกและหมากล้อมนั้นมีลักษณะเป็นเกมกลยุทธ์ แต่มันก็มีความแตกต่างกันในระดับปรัชญาและวิธีคิด ดังนั้น แม้ผู้ที่เล่นหมากรุกจนเชี่ยวชาญก็ไม่สามารถใช้ทักษะที่เคยเรียนรู้มาใช้ตรงๆ เพื่อให้เก่งหมากล้อมได้
ความแตกต่างประการแรกได้แก่พื้นที่เล่น นั่นคือกระดานของหมากล้อมนั้นมีขนาดใหญ่กว่ามาก โดยกระดานมาตรฐานของหมากล้อมนั้นมีขนาด 18 x 18 เส้น หรือแบ่งเป็นตารางได้ 324 เส้น ทั้งนี้ การเล่นหมากล้อมนั้นเป็นการวางหมากที่จุดตัดระหว่างเส้น ส่วนหมากรุกนั้นมีขนาด 8 x 8 ช่อง หรือเท่ากับ 64 ช่อง และหมากแต่ละตัวจะเดินในช่อง
ขนาดกระดานหรือ “สมรภูมิ” นี้เอง ทำให้ในเกมหมากล้อมเกมหนึ่ง จึงสามารถเกิด “พื้นที่ขัดแย้ง” ได้หลายจุดที่แยกจากกัน ในขณะที่หมากรุกนั้นในหนึ่งเกมจะมีสนามรบเดียว ที่แม้มีจุดพิพาทแยกกันได้บ้าง แต่ก็อยู่ใกล้กันและเกี่ยวเนื่องต่อกันอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ หมากล้อมโดยปกติแล้วจะเริ่มต้นเกมด้วยกระดานที่ว่างเปล่า จากนั้นผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจะผลัดกันวางหมากดำและขาวลงไปในจุดตัดบนกระดาน วางแล้ววางเลยไม่มีการย้ายที่ ภาพของสนามรบจึงค่อยๆ ปรากฏออกมาเมื่อเวลาผ่านไป ในขณะที่หมากรุกนั้นจะเริ่มต้นเกมด้วยตัวหมากเต็มกระดานฝ่ายละเท่าๆ กัน จากนั้นทั้งผู้เล่นก็จะผลัดกันเคลื่อนหมากของตนไปตามช่องตามกฎของหมากแต่ละตัวซึ่งมีรูปแบบตาเดินแตกต่างกัน ความแตกต่างนี้เองที่แบ่งบทบาทและสถานะของหมากแต่ละตัวบนกระดาน ดังนั้น เมื่อเล่นไปเรื่อยๆ กระดานหมากรุกจะค่อยๆ โล่งไปจนเหลือพื้นที่สู้รบชี้ขาดที่ชัดเจน
ส่วนหมากล้อมนั้น หมากแต่ละตัวมีพลังอำนาจเสมอกันหมด ดังนั้น ความแข็งแกร่งของตัวหมากในหมากล้อมจึงขึ้นกับตำแหน่งหน้าที่ของมันบนกระดาน และกลุ่มที่มันสังกัดอยู่
ตัวหมากของหมากรุกนั้นจะ “ตาย” หรือถูกจับกิน หากมันอยู่ในช่องที่ขวางตาเดินของหมากฝ่ายตรงข้าม ส่วนหมากล้อมนั้นตัวหมากจะตายเมื่อตัวมันหรือกลุ่มมันถูกปิดล้อมด้วยหมากฝ่ายตรงข้ามครบทุกทิศทางจนสิ้นอิสรภาพ หรือภาษาหมากล้อมไทยเรียกว่า ถูกปิดลมหายใจ
การจบเกมของหมากรุกนั้นคือการที่ฝ่ายหนึ่งสามารถเดินหมากไปรุกฆาตตัว “ขุน” หรือ King ของอีกฝ่ายได้อย่างสมบูรณ์แบบ คือเดินไปทางไหนอีกก็ไม่ได้ อยู่เฉยๆ ก็จะถูกจับกิน ส่วนหมากล้อมนั้นจะแพ้ชนะกันเมื่อผู้เล่นทั้งสองฝ่ายพร้อมใจกันผ่านไม่วางหมาก จากนั้นก็จะมานับกันว่าหมากของแต่ละฝ่ายวางกินพื้นที่ได้เท่าไรบนกระดาน ใครที่วางหมากกินพื้นที่ได้มากที่สุดจะเป็นฝ่ายชนะ การเอาชนะในเกมหมากล้อมโดยเฉพาะระดับมืออาชีพที่ฝีมือสูสีกันนั้น มักจะแพ้ชนะกันอย่างฉิวเฉียดแค่ 1 แต้มหรือครึ่งแต้ม แต่ก็ถือว่าชนะครึ่งแต้มหรือสิบแต้มก็คือชนะเท่ากัน แต่หลายครั้งเกมก็จบลงเมื่อฝ่ายหนึ่งมองเห็นภาพบนกระดานแล้วก็ประเมินได้ว่าตัวเองแพ้อย่างแน่นอน ก็จะวางหมากยอมแพ้แบบไม่ต้องนับแต้มกันให้เสียเวลา
ดังนั้น หมากล้อมจึงไม่จำเป็นต้องตั้งหน้าตั้งตาจับกินหมากอีกฝ่ายอย่างเอาเป็นเอาตาย ผู้เล่นสามารถที่จะเลือกสร้างพื้นที่ของตนให้แข็งแรงและเชื่อมต่อกันเป็นเขตแดนขนาดใหญ่ที่ฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถเอาหมากของตัวเองลงไปวางได้ การจับกินจะเกิดขึ้นเมื่อตัวหมากของอีกฝ่ายทำท่าจะก่อกลุ่มคุกคามหรือตัดชิงพื้นที่ไปได้เท่านั้น
ความแตกต่างกันในระดับปรัชญาแนวคิดนี้เอง ทำให้ Henry Kissing นักการทูตและนักวิเคราะห์ชาวสหรัฐตั้งข้อสังเกตว่า ในสงครามการค้าของจีนและสหรัฐนั้นมีความแตกต่างกันก็ตรงนี้ นั่นคือสหรัฐนั้นเน้นการเล่นที่การโฟกัสไปที่การรุกฆาต “ขุน” หรือ King ตัวเดียว หากทำสำเร็จก็จะชนะในกระดานนั้น
ในขณะที่จีนซึ่งมีความคิดแบบหมากล้อมนั้นถนัดเล่นเกมยืดเยื้อหลายพื้นที่ ซึ่งก็เป็นไปได้ที่จะยอมแพ้หรือเสียพื้นที่ไปในบางจุดเพื่อแลกกับการได้พื้นที่ขนาดใหญ่ในที่สุด รวมถึงไม่จำเป็นต้อง “ตอบโต้” เกมของสหรัฐไปเสียทุกเรื่อง หรือมุ่งรุกฆาตตัวขุน เพียงแต่สร้าง
ความแข็งแรงในพื้นที่ที่ได้เปรียบของตัวเองและแผ่ขยายอิทธิพลและเชื่อมต่อพื้นที่ไปให้ไพศาลกว่าก็พอ
ขอให้นึกถึงตอนที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศสงครามทางการค้า ใช้มาตรการกีดกันธุรกิจและกล่าวหาจีนต่างๆ นานา แต่ สี จิ้นผิง เพียงใช้การไปเยือนเหมือง Rare Earth ซึ่งเป็นแร่สำคัญที่เป็นวัตถุดิบหลักของกิจการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าไฮเทคทั้งหลายในโลก เพื่อตอบโต้การไล่รุกแบบ “หมากรุก”ด้วยวิธีคิดแบบ “หมากล้อม” จนฝ่ายแรกต้องยอมถอย
ที่เล่ามาข้างต้นนี้ก็เพื่อจะนำไปสู่ข้อสังเกตส่วนตัวของผมที่ว่า การเล่นเอาเถิดระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐและฝ่ายประชาชนผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของไทยนั้น ก็มีลักษณะเป็นการเอาวิธีคิดแบบ “หมากรุก” ไป “ต่อกร” กับหมากล้อมเช่นกัน
“หมากรุก” ของเจ้าหน้าที่รัฐที่เชื่อว่า ผู้ชุมนุม ฝ่ายตรงข้ามนั้นมี “ตัวขุน” อยู่ตัวหนึ่ง ที่ถ้ารุกฆาตได้สำเร็จแล้วเป็นอันว่าจะชนะแล้วโดยเด็ดขาด
“หมากรุก” ที่มองเห็นหมากแต่ละตัวมีตำแหน่ง ศักดิ์ และความสามารถในการคุกคามเคลื่อนไหวแตกต่างกัน ถ้าเด็ดตัวหมากสำคัญเช่นม้าหรือเรือ ได้แก่
ผู้ที่เป็นแกนนำของฝ่ายตรงข้ามได้แล้ว ก็น่าจะทำให้อีกฝ่ายอ่อนแอหรือเสียเปรียบลงไปได้อย่างมาก
ในขณะที่การชุมนุมนั้นมีลักษณะเป็นหมากล้อม ที่กระจัดกระจายแยกย้ายเป็นกลุ่มต่างๆ ที่กินพื้นที่แห่งข้อเรียกร้องไม่เหมือนกัน เช่นกลุ่มประชาชนปลดแอก กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มนักเรียนเลว และกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยอื่นๆ แต่ก็ยังมีจุดร่วมต่อกัน เหมือนกลุ่มหมากสีเดียวกันที่อยู่บนพื้นที่ของกระดาน แต่ก็มีจุดที่เชื่อมต่อกันหรือพร้อมที่จะเชื่อมต่อกัน หากเห็นว่าอาจจะถูกคุกคาม
เช่นนี้ “แกนนำ” ของการชุมนุม ซึ่งแม้ว่าจะมีอยู่ แต่นั่นก็เป็นเหมือนเพียงเม็ดหมากสำคัญตัวหนึ่งของกลุ่มหมาก ซึ่งความสำคัญของหมากตัวนั้นไม่ได้อยู่ที่ว่าเขาสามารถเดินได้ไกลหรือกินได้หลายทิศทางกว่าหมากตัวอื่น แต่อาจจะเป็นเพราะว่าเขาอยู่ในตำแหน่งที่สามารถเชื่อมกลุ่มหมากเอาไว้ให้มี “ลมหายใจ”ร่วมกัน
ซึ่งสำหรับหมากล้อมนั้น กลุ่มหมากที่มี “อิสรภาพ” มากที่สุด คือหมากที่เกาะกลุ่มกันใหญ่ที่สุด จนการกินหมากทั้งกลุ่มนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ ยิ่งถ้ากลุ่มนั้นสามารถสร้าง “พื้นที่ภายใน” ร่วมกันได้มากกว่าสองจุด (หรือภาษาหมากล้อมเรียกว่า “สองห้อง”) แล้ว หมากกลุ่มนั้นก็ถือเป็นอมตะ
การไล่กินหมากที่ฝ่ายตรงข้ามวางมาอย่างเอาเป็นเอาตายนั้นเป็นกับดักที่ผู้เล่นหมากล้อมฝึกหัดส่วนใหญ่จะพบเจอว่ามันทำให้เราเผลอวางหมากถลำเข้าไปในพื้นที่ของฝ่ายตรงข้ามอย่างโดดเดี่ยว แถมยังทำให้พื้นที่กลุ่มหมากของเราอ่อนแอกว่าอีกต่างหาก
เช่นเดียวกับที่ฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐนั้นพยายามจับกุมและตั้งข้อหากับแกนนำจนแทบจะจำไม่ได้แล้วว่าโดนกันไปคนละกี่ข้อหา แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้การชุมนุมลดลงหรือสถานการณ์ได้เปรียบขึ้น
ผู้ที่เติบโตมากับความคิดในยุค “หมากรุก” ที่มนุษย์ต่อสู้กับคอมพิวเตอร์ดีปบลูเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน จึงอาจ
จะยากที่จะทำความเข้าใจและรับมือกับคนหนุ่มสาวและเด็กๆ ที่เติบโตมากับ “หมากล้อม” ในยุคอัลฟา โกะ (และการ์ตูนเรื่อง ฮิคารุ เซียนโกะ)
แค่ให้บูมเมอร์หมากรุกจินตนาการและยอมรับว่า หมากทุกตัวนั้นมีศักดิ์เท่ากันบนกระดานขึ้นกับว่ามันจะวางอยู่ตรงไหนเชื่อมกับกลุ่มใดนั้นก็ยากมากแล้ว อย่าว่าแม้แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐเลย แม้แต่ “ฝ่ายกองเชียร์” ก็คงนึกแต่จะหาไอ้ “ตัวขุน” ที่อยู่เบื้องหลัง ไอ้บูด ไอ้ทอน หรือไม่ก็นึกแต่จะมุ่งเป้าไปที่ตัวเด่นๆ ที่เป็นเหมือนม้าเรือ อย่าง ทนายอานนท์ เพนกวิน หรือรุ้ง กันอยู่
โดยไม่ได้มองเห็นความจริงเลยว่า ความน่ากลัวที่แท้จริงของกลุ่มหมากบนกระดานที่กำลังหลอกหลอนเขานั้นไม่ใช่หมากเด็ดตัวใดตัวหนึ่ง แต่มันคือหมากดำเม็ดเล็กๆ ไม่มีรูปร่างหน้าตา แต่เชื่อมประสานเป็นกลุ่มก้อนขนาดยักษ์ แผ่กระจายเต็มพื้นที่ จนรุกไล่เข้ามาบนพื้นที่ปลอดภัยของพวกเราเรื่อยๆ จนแทบไม่มีที่ยืน
ทั้งที่จริงแล้ว โดยปกติตามกติกา หมากรุกกับหมากล้อมไม่สามารถเล่นบนกระดานเดียวกันได้เลย เพราะหมากล้อมนั้นเล่นบน “เส้นตัด” ส่วนหมากรุกนั้นวางลงตรง “ช่องว่าง” ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่หมากรุกจะกินหมากล้อม หรือตัวหมากล้อมจะปิดลมหายใจของตัวหมากรุกได้
แต่ถ้าสมมุติว่ายอมเปลี่ยนกติกา เอาตัวหมากรุกมาวางบนเส้นตัดของหมากล้อมได้ และให้หมากรุกเดินได้ตามกติกาเดิมของตน หมากที่เดินได้กว้างขวางหลายทางอย่างม้าเรือ หรือตัวขุนที่กินได้แปดทิศอาจจะได้เปรียบที่สามารถไล่กินตัวหมากล้อมเล็กๆ รอบตัวได้
แต่ก็จะพบว่าในที่สุด หมากตัวใหญ่พวกนั้นตกอยู่ในวงล้อมของกลุ่มหมากดำไร้หน้า ที่เพียงวางหมากเพิ่มเพียงตัวเดียวก็จะปิดลมหายใจให้สิ้นอิสรภาพได้
กล้า สมุทวณิช
https://www.matichon.co.th/politics/news_2393132